ตาเสือขน ๒

Dysoxylum mollissimum Blume

ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือขนนุ่ม (ใต้); ตาเสือขอบจัก (กลาง)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ต้นที่มีขนาดใหญ่มากโคนต้นมักมีพูพอนจำนวนมากเป็นสันสูงและยาวไปตามพื้น เปลือกต้นสีน้ำตาลแกมสีเทา มักแตกเป็นร่องหรือล่อนเป็นแผ่นเล็ก มีช่องอากาศยาวสีน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีขน มีใบย่อย ๑๑-๒๙ ใบ อาจพบได้ถึง ๓๕ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกตามซอกใบและเหนือซอกใบ ดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น ผลแก่สีน้ำตาลแกมสีแดง ค่อนข้างเกลี้ยง มีน้ำยางสีขาว เมล็ดสีดำ ทรงรูปไข่แกมรูปทรงกระบอก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ขั้วเมล็ดขนาดใหญ่ สีขาว

ตาเสือขนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๔ ม. ลำต้นเปลาตรง ต้นที่มีขนาดใหญ่มากโคนต้นมักมีพูพอนจำนวนมากเป็นสันสูงได้ถึง ๒ ม. ยาวไปตามพื้นได้ถึง ๑ ม. เปลือกต้นสีน้ำตาลแกมสีเทา มีช่องอากาศยาวสีน้ำตาล มักแตกเป็นร่องหรือล่อนเป็นแผ่นเล็ก เปลือกชั้นในสีน้ำตาลอมเหลือง มีแต้มด่างสีส้ม กระพี้สีน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนมีนวลหรือสีออกแดง ค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนนุ่มหนาแน่นสีเหลือง กิ่งแก่สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมสีแดง มีรอยแผลใบและมีช่องอากาศ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๒๕-๙๐ ซม. มีขนตามก้านใบและแกนกลางใบ มีใบย่อย ๑๑-๒๙ ใบ อาจพบได้ถึง ๓๕ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๑๓-๑๖ ซม. ใบย่อยใกล้โคนใบมักมีขนาดเล็กกว่าใบย่อยในลำดับบน ใบที่มีขนาดเล็กกว้างประมาณ ๓.๕ ซม. ยาวประมาณ ๖.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลม โคนมนหรือเว้ารูปหัวใจ บางครั้งอาจเบี้ยว ใบย่อยที่อยู่ปลายสุดโคนรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนตามเส้นใบ ด้านล่างมีขนหนาแน่นหรือเกือบเกลี้ยง เส้นใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไป เส้นใบย่อยเห็นชัด ก้านใบยาว ๕-๑๐ ซม. มีขนนุ่มหรือเกือบเกลี้ยง มีช่องอากาศ ด้านบนมักแบน โคนก้านป่องเล็กน้อย ก้านใบย่อยยาว ๒-๗ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะออกตามซอกใบถึงเหนือซอกใบ ยาวได้ถึง ๖๐ ซม. ช่อดอกห้อยลง แยกแขนง ๑-๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ ยาวได้ถึง ๑๒ ซม. ชั้นที่ ๒ ยาวได้ถึง ๑ ซม. มีดอกจำนวนมากออกเป็นกลุ่ม ใบประดับและใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนหนาแน่น ร่วงง่าย ดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ก้านดอกสั้นมาก ยาวได้ถึง ๑ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม เล็กมาก มีขน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๔ แฉก พบน้อยมากที่มี ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบ กว้าง ๑.๕-๒.๒ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ปลายแหลมและงุ้ม เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม ด้านนอกมีขนสั้นหรือเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๘ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวได้ถึง ๘ มม. ปลายหลอดตัดหรือเป็นแฉกเล็ก ๘ แฉก มีขนทั้ง ๒ ด้าน โดยเฉพาะด้านในมีขนนุ่มหนาแน่น ส่วนปลายก้านชูอับเรณูที่แยกกันเล็กน้อยอยู่ใกล้ขอบปากหลอดและมีอับเรณูติดอยู่ด้านใน อับเรณูรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มีจานฐานดอกคล้ายหลอดสั้น สูง ๒-๔ มม. เกลี้ยงหรือมีขน ปลายหยักแหลม ๔ หยัก มีขนหรือเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียอวบ ยาวใกล้เคียงกับหลอดเกสรเพศผู้ มีขน ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลมแป้น กว้างประมาณ ๑ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น มี ๔-๕ พู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. อาจพบยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. ผลแก่สีน้ำตาลแกมสีแดง ค่อนข้างเกลี้ยง เปลือกผลมีน้ำยางสีขาว ส่วนใหญ่แตกเป็น ๔ เสี่ยง เมล็ดสีดำ ทรงรูปไข่แกมรูปทรงกระบอก กว้างได้ถึง ๑ ซม. ยาวได้ถึง ๑.๖ ซม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ขั้วเมล็ดขนาดใหญ่ สีขาว

 ตาเสือขนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ริมแหล่งน้ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก

 ประโยชน์ ผลใช้เป็นสมุนไพร เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเสือขน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dysoxylum mollissimum Blume
ชื่อสกุล
Dysoxylum
คำระบุชนิด
mollissimum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
ตาเสือขนนุ่ม (ใต้); ตาเสือขอบจัก (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์